|
ข้อมูลท่องเที่ยว อุ้มผาง จ.ตาก |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
อุ้มผาง
ดินแดนแห่งตำนานของนักเดินทาง
ในอดีต อุ้มผางเดิมทีเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
ต่อมาก็มีคนไทยจากภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ได้อพยพหาที่ทำกินใหม่มาบุกเบิกป่าอุ้มผางเป็นที่อยู่อาศัย
และเมื่อปี พ.ศ. 2432 ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตก
ขึ้นตรงกับ จ.อุทัยธานีและเป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาค้าขาย
ในประเทศไทยโดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเอกสารเดินทาง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบ
การเดินทางค่อนข้าง ลำบากและเอกสารฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้นการเก็บเอกสารจึงม้วนเก็บในกระบอกไม้ไผ่และมีฝาจุกปิดมิดชิด
เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่เพื่อแสดงเอกสาร ชาวกะเหรี่ยงจะเรียกเอกสารนี้ว่า
"อุ้มผะ" ซึ่งต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนมาเป็น
"อุ้มผาง" จึงได้กลายมาเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2469
ทางการได้ยุบอำเภอแม่กลองเป็นกิ่งอ.แม่กลองและโอนการปกครองจาก จ.อุทัยธานีให้ไปขึ้น
กับ จ.กำแพงเพชร และในปี พ.ศ. 2499 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่บ้านอุ้มผาง
พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.อุ้มผางใน วันที่ 22 เมษายน 2502 ทางการได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากกิ่งอำเภอ
เป็น อ.อุ้มผางและให้ขึ้นกับ จ.ตาก
อุ้มผาง เป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
มีพื้นที่ประมาณ 4,325 ตร.กม. หรือ 2,703,362 ไร่ สภาพพื้นที่ 97 %
เป็นผืนป่าและภูเขา มีพื้นที่ราบ เพียง 3 % และมีพรมแดนติดกับประเทศพม่ายาว
180 กม.
ดินแดนแห่งไข้ป่าและสัตว์ร้าย...
ในสมัยก่อนหากใครมาเป็นข้าราชการที่อุ้มผางถือว่าดวงตกสุดๆเพราะกิตติศัพย์เรื่องไข้ป่า
จนใครได้ยินชื่ออุ้มผางยังผวาและเป็นที่ร่ำลือกันว่าหากใครถูกย้ายไปอยู่อุ้มผาง
บางคนถึงกับ ลาออกจากหน้าที่การงานหรือสั่งทางบ้านให้ไปเก็บกระดูกตัวเองได้เลยและเวลาข้าราชการไปรับเงินเดือนก็ต้องไปรับที
อ.แม่สอด การเดินทางก็ต้องใช้ช้างหรือม้าเดินทางประมาณ 4 วัน 3 คืน
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่...ในอดีตการดำรงค์ชีวิตของชาวอุ้มผาง
สิ่งที่สามารถทำมาค้าขายกับโลกภายนอกได้ก็คือการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเอาไปขาย
เพราะถ้าจะเอาผลผลิตทางการเกษตรอย่างอื่นไปขายมันลำบากในการขนย้ายในการต้อนวัวควายไปขาย
ชาวบ้านก็จะนัดหมายเอาวัวควายมารวมกันแล้วต้อนวัวควายสู่ จ.กำแพงเพชร
โดยผ่านผืนป่า ห้วยขาแข้ง ดินแดนแห่งไข้ป่าและเสือร้าย ต้องรอนแรมกลางป่ากันถึง
15 วัน ตกค่ำกลางป่าก็ต้องต้อนวัวควายมารวมกลุ่มและนั่งเฝ้ายามป้องกันเสือมาขโมยกิน
พอขายได้เสร็จเรียบร้อยก็ซื้อของกลับบ้านเดินทางกลับตามเส้นทางเดิมอีก
เดินทางไป - กลับแต่ละครั้งก็หนึ่งเดือน หากใครโดนสัตว์ร้ายไข้ป่าก็จะหาสมุนไพรมาทากิน
โค่นป่าล่าสัตว์...เมื่อประมาณ
70 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทไม้แห่งหนึ่งได้รับสัมปทานทำไม้สัก จึงได้ตัดไม้
นับหมื่นท่อน ล่องมาตามลำน้ำห้วยแม่กลอง แต่ทว่าเกิดอุบัติเหตุทำให้ท่อนซุงไม้สักประมาณครึ่งหนึ่งต้องไปติดอยู่ใน
ถ้ำน้ำมุด จึงต้องยกเลิกการทำไม้ลง ส่วนการล่าสัตว์เพื่อการค้ายังไม่มีเพราะเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยง
พ.ศ. 2514
พรรคคอมมินิสต์แห่งประเทศไทยได้เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้มีการสู้รบกันบ้างระหว่าง
เจ้าหน้าที่ของรัฐคือตำรวจตระเวนชายแดน น.ป.พ. และ อ.ส. ด้วยการใช้นโยบาย
66/2523 จึงนำความสงบสุขมาสู่ชาว อุ้มผางและมวลชนที่เข้ามามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยประมาณสองพันกว่าคนในช่วง
พ.ศ. 2527
จากการที่อุ้มผางเป็นเมืองปิดมาช้านาน ทางการได้ทำการตัดถนนจาก
อ.แม่สอด สู่ อ.อุ้มผาง ลัดเลาะตาม ไหล่เขาและสันเขา 165 กม. ซึ่งเป็นที่มาของ
ถนนสายลอยฟ้า ระยะทางก่อสร้างกว่า 10 ปี เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526
เรื่องราวในอดีตก็ปิดตัวเองลง ประตูแห่งเมือท่องเที่ยวก็ได้เปิดออกเมื่อ
นายแพทย์บรรลือ กองไชย ได้เข้ามารับหน้าที่ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง
ท่านได้ชักชวนให้นิตยสารการท่องเที่ยวเข้ามาและการค้นพบของน้ำตกอันยิ่งใหญ่
กลางผืนป่าและธรรมชาติอันสวยงามของต้นน้ำแม่กลอง ในปัจจุบันคนอุ้มผางไม่น้อยที่หันมาทำธุระกิจท่องเที่ยว
เริ่มจากการใช้แพไม้ไผ่ล่องแก่งและพัฒนามาเป็นเรือยาง โดยได้รับคำแนะนำในการท่องเที่ยวจากภาครัฐ
ในรูปแบบการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ ECO TOURISM คนอุ้มผางแท้ๆในปัจจุบันจึงเป็นคนรุ่นที่
3 และ 4 ตามลำดับ
10 กว่าปีที่ตัวกระผมคลุกคลีกับเส้นทาง กะเหรี่ยงลอยฟ้า
165 กม. จาก อ.แม่สอด สู่ อ.อุ้มผาง 1,219 โค้ง แต่ที่กระผมจำได้มี
2 โค้งคือโค้งซ้ายและโค้งขวาครับ! หลังจากประตูสู่อุ้มผางเปิดออก เส้นทางสู่
น้ำตกทีลอซู อันยิ่งใหญ และสายน้ำมหัศจรรย์ของ น้ำตกทีลอเล รวมทั้งการล่องแพไม้ไผ่ในการสำรวจยุคแรกๆ
พวกเราไม่รู้ว่าแพจะแตกเมื่อไหร่ นอนกลางดิน กินข้าวลิง กับการใช้กระบอกไม้ไผ่ให้เป็นประโยชน์
อาทิ หุงข้าว ทำแกง แก้วกาแฟ กระบอกใส่น้ำกลางป่า มันคือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ผมไปเยี่ยมเยือนอย่างไม่เคยขาดหลังจากเรือยางลำแรกได้นำมาแทนที่แพไม้ไผ่เมื่อปี
พ.ศ. 2536 และกระแสอนุรักษ์เข้ามาแทนที่การตัดไม้ไผ่มาทำแพ เรือยางลำที่สอง-สาม-สี่
ก็ทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ เสียงจากปากต่อปากบอกเล่าถึงสายน้ำตกอันยิ่งใหญ่และบรรยากาศของการล่องแก่งอันสวยงาม
จำนวนนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ้านพัก รีสอร์ท ก็ผุดขึ้นมากมาย
ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการล่องแก่งทั่วประเทศในขณะนี้
แหล่งท่องเที่ยว
ต้นน้ำแม่กลอง
: แม่น้ำแม่กลอง ต้นกำเนิดมาจากสายน้ำใหญ่น้อยในเทือกเขาสูงของป่าอุ้มผางอันประกอบด้วย
ห้วยแม่กลอง ห้วยอุ้มผาง ห้วยกล้อทอ ห้วยแม่จัน ห้วยแม่ละมุ้ง ฯลฯ
ใหลสู่ จ.กาญจนบุรี เรียกว่าแม่น้ำแคว และรวมกับแม่น้ำแควน้อย ใหลสู่
จ.ราชบุรี ออกทะเลอ่าวไทยที่ จ.สมุทรสงคราม เรียกว่าแม่น้ำแม่กลอง
จัดว่าเป็นแม่น้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งของไทย
น้ำตกทีลอซู :
น้ำตกทีลอซู เป็นน้ำตกขนาดใหญ่กลางผืนป่าตะวันตก มีจำนวน 3 ชั้น ซึ่งสายน้ำใหลมาจากห้วยกล้อทอ
ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง "ทีลอ" แปลว่า น้ำตก "ซู"
แปลว่าเสียงดัง , ยิ่งใหญ่ , ดำ น้ำตกทีลอซู จึงหมายถึงน้ำตกที่ยิ่งใหญ่และมีเสียงดัง
การท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซู ในหน้าหนาวและหน้าร้อน (ธ.ค.-เม.ย.) สามารถนั่งรถเข้าไปเที่ยวได้
หาก
เป็นหน้าฝนจะต้องเดินเท้าเข้าไปเหมาะกับท่านที่ชอบลุย
ดอยหัวหมด :
ดอยหัวหมด เป็นภูเขาที่ลักษณะโล้นเลี่ยน เหมาะกับการเดินเท้าขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์
โดยเฉพาะในหน้าหนาว จะมีทะเลหมอกและมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นอันสวยงาม
การเดินเท้าจากลานจอดรถใช้เวลาประมาณ 10 นาที
ถ้ำตะโค๊ะบิ๊
: ถ้ำตะโค๊บิ๊ เป็นถ้ำที่ยาวมาก ในอดีตเคยเป็นที่พักอาศัยของกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์
ปัจจุบันเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวแวะไปท่องเที่ยวชมหินงอกหินย้อย
แม้ว่าจะเป็นถ้ำที่ตายคือไม่มีหินงอกหินย้อยเกิดใหม่แล้ว
น้ำตกทีลอจ่อ :
น้ำตกทีลอจ่อ หรือน้ำตกสายฝน เป็นน้ำตกที่ไหลจากหน้าผาสู่ห้วยแม่กลอง
หากล่องเรือสายน้ำแม่กลองก็จะ เห็นสายน้ำตกใหลโปรยปรายคล้ายสายฝนตกตลอดเวลา
น้ำตกทีลอเล :
น้ำตกที่ลอเล เป็นน้ำตกที่อยู่ทางใต้สุดของ อ.อุ้มผาง เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่ไหลตกสู่ห้วยแม่กลอง
การเดินทางไปท่องเที่ยวต้องล่องเรือยางไปประมาณวันครึ่ง ขากลับต้องเดินป่าออกบ้านกะเหรี่ยงปะละทะหรือกะเหรี่ยงบ้านเซปละ
ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 วัน น้ำตกทีลอเลแปลว่าน้ำตกหิน และจัดว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามและคลาสสิคอีกแห่งหนึ่ง
ในปัจจุบัน อ.อุ้มผาง เป็น 1 ใน 8 อำเภอของ
จ.ตาก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด ห่างจากตัวเมือง 249 กม.
ทิศเหนือติด อ.พบพระ จ.ตาก ทิศใต้ติด อ.สังขละบุรี และ อ.ศรีสวัสดิ์
จ.กาญจนบุรี ทิศตะวันออกติด จ.แพงเพชร, จ. นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี
ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า
อุ้มผางวันนี้คือดินแดนหลากวัฒนธรรมและหลายธรรมชาติ
ยังคงต้อนรับผู้มาเยือนด้วยมิตรไมตรี....โดย โจ้ โอเชี่ยนสไมล์ |
|
|
|
|
|
| |
|