อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน มีพื้นที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และอำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ป่าปกคลุมตามเทือกเขาสลับซับซ้อนที่อยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุดของเขื่อนสิริกิติ์ ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ประมาณ 999.15 ตารางกิโลเมตร หรือ 624,468 ไร่ โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดราว 203 ตารางกิโลเมตร ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วย อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2541 ลักษณะภูมิประเทศ ในพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หรือลำน้ำน่าน ซึ่งประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และสัตว์ป่าหลายชนิด ลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในเขตมรสุมซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้น อากาศอบอ้าว โดยมีอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ฤดูฝนอยู่ระหว่าง เดือน พฤษภาคม - ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยประมาณ 1,440 มิลลิเมตร/ปี ฤดูหนาวในบริเวณยอดดอยและเทือกเขามีอากาศหนาวจัด ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยว พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า ป่าเหนือเขื่อนสิริกิติ์ พบว่ามีอยู่ 4 ประเภท คือ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าหญ้า มีพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น ไม้สัก ไม้มะค่าโมง ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง ฯลฯ ในเขตอุทยานแห่งชาติมีสัตว์ป่าและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ หลายประเภท เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จะพบสัตว์ป่า คือ กวาง เลียงผา หมูป่า หมีควาย หมีคน อีเห็น ลิง เม่น เสือปลา ไก่ฟ้า ไก่ป่า เต่าภูเขา งูชนิดต่าง ๆ และนกไม่น้อยกว่า 200 ชนิด บ้านพัก-บริการ บ้านพักทางการที่ตั้งในอุทยานฯ แหล่งท่องเที่ยว น้ำตกเชิงทอง เป็นน้ำตกขนาดเล็กริมถนน อยู่ห่างจากพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ ประมาณ 9 กม.มีน้ำไหลตลอดปี และมีทางเดินตามลำห้วยมุ่นต่อขึ้นไปยังน้ำตกห้วยมุ่นและน้ำตกดอยผาหมอก ซึ่งสูงและไหลลดหลั่นลงมาหลายชั้น เส้นทางสายเชิงทอง-กิ่วเคียน จากน้ำตกเชิงทอง เมื่อไปตามเส้นทางสายเชิงทอง - กิ่วเคียน จะผ่านไปท่ามกลางผืนป่าอันชุ่มชื้น และมีหมู่บ้านชาวไทยภูเขาตั้งอยู่เป็นระยะ เส้นทางจะลัดเลาะไปตามเทือกเขาสลับซับซ้อน และมีจุดชมทิวทัศน์อยู่ระหว่างทางหลายแห่งตลอดเส้นทางจะพบกับป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อขึ้นสู่พื้นที่ระดับสูง สภาพบรรยากาศจะมีความร่มรื่นและเย็นสบาย ริมทางหนาแน่นไปด้วยพันธุ์ไม้ของป่าดิบเขา เช่น นางพญาเสือโคร่ง เฟิร์น และกล้วยไม้นานาชนิด บางช่วงมีเฟิร์นต้น (Tree-fern) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละต้นล้วนสูงใหญ่อย่างน่ามหัศจรรย์ สำหรับผู้ที่ชอบดูนกเส้นทางนี้มีนกบนเขาสูงให้ชมมากมาย และสามารถเดินดูนกได้ตามริมถนน ภูพยาพ่อ เป็นจุดสูงสุดบนเส้นทางสายเชิงทอง-กิ่วเคียน สูง 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังเป็นยอดเขาสูงสุดที่แบ่งเขตแดนระหว่างแพร่กับอุตรดิตถ์ บนภูพญาพ่อ ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านในท้องถิ่น บริเวณนี้เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นเขาและผืนป่ากว้างไกลไปจนสุดสายตาที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์ เส้นทางช่วงต่อไปถนนจะไต่ระดับลงจากเขาจนไปสิ้นสุดที่ อ.ท่าปลา และสามารถเดินทางต่อไปถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติได้ อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขวางกั้นลำน้ำน่าน ภายในอ่างเก็บน้ำปรากฏเกาะแก่งอยู่มากมาย จึงมีทัศนียภาพงดงาม เหมาะสำหรับการล่องเรือชมทิวทัศน์ และสามารถล่องเรือไปได้ไกลจนถึง จ.น่าน ซึ่งเขตติดต่อกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน การเดินทางใช้เส้นทางหวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ผ่านสามแยกร่วมจิต (ทางเข้า อ.ท่าปลา) ไปจนถึงบ้านห้วยเจริญ มีป้ายอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เข้าไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 4 กม. ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ การเดินทาง รถยนต์ ใช้เส้นทางหวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ผ่านสามแยกร่วมจิต (ทางเข้า อ.ท่าปลา) ไปจนถึงบ้านห้วยเจริญ มีป้ายอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เข้าไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 4 กม. ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน อ.เมือง จ.แพร่
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028