ราชวงศ์ : สุโขทัย ปีที่ครองราชย์ : พ.ศ.2133-2146 พระนเรศวร เป็นกษัตริย์องค์ที่ 19 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัยและพระมารดาคือ พระวิสุทธิกษัตรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี พระนเรศวรเป็นที่รู้จักในฐานะ วีรกษัตริย์ ผู้กอบกู้ เอกราชให้กับอยุธยา ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 15 ปี พระนเรศวรมีพระพี่นาง 1 องค์ และพระอนุชา 1 องค์ พระนเรศวรเป็นที่รู้จักกันในนามของ พระองค์ดำ ผู้มีความปรีชาสามารถในการสงคราม สามารถสถาปนาอาณาจักรอยุธยาให้มีอำนาจยิ่งใหญ่ ส่วนพระอนุชา (ซึ่งต่อมาจะเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ) นั้นรู้จักกันในพระนาม พระองค์ขาว พระนเรศวรทรงได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในบรรดากษัตริย์ไทยที่ทรงเป็น มหาราช พระนเรศวรประสูติเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่เมืองพิษณุโลกในสมัยที่พระราชบิดาทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนั้นอยู่ เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา พระองค์ถูกส่งตัวไปเป็นตัวประกันที่เมืองพระโค (หงสาวดี) ทั้งนี้สืบเนื่องจากพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้ และเมื่อพระราชบิดาได้เข้าร่วมกับฝ่ายเพื่อประกันความจงรักภักดีต่อพม่า พระนเรศวรจึงถูกส่งตัวไปเป็นตัวประกัน พระนเรศวรทรงประทับอยู่ในฐานะ โอรสบุญธรรม ของกษัตริย์พม่าถึง 7 ปี ครั้นเมื่อพม่ายึดอยุธยาได้ พระมหาธรรมราชาได้ขึ้นครองราชสมบัติอโยธยาในฐานะเมืองขึ้นของพม่า และพระนเรศวรจึงเสด็จกลับจากเมืองพระโค (หงสาวดี) เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา โดยการที่พระมหาธรรมราชาต้องส่งตัวพระราชธิดาพระนางสุพรรณกัลยา ไปเป็นตัวประกันแทน จากนั้นพระนเรศวรก้ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก และมีตำแหน่งในฐานะอุปราช หรือ วังหน้า โดยมีพระอนุชา (พระเอกาทศรถ) ในฐานะ วังหลัง ที่จะสืบราชสมบัติแทน ในช่วงเวลา 19 ปีก่อนการขึ้นครองราชย์นั้น พระนเรศวรทรงมีส่วนในการสงครามป้องกันอยุธยาเป็นอย่างมาก ทั้งการสงครามกับพม่าและกัมพูชา ในที่สุดก็ได้ประกาศ อิสรภาพ ในปี พ.ศ. 2127 นั้น อาราจักรนอกจากจะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว (ทั้งอยุธยาและเชียงใหม่) ภาคกลางของประเทศไทยได้รับความเสียหายมาก ประชากรจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลายเมืองถูกทิ้งร้างเพราะขาดประชากร ส่วนที่อยุธยาเองพม่าก็ตั้งกองทัพของตนไว้ 3,000 คน ทั้งนี้เพื่อควบคุมพระมหาธรรมราชามิให้เอาใจออกห่าง ดังนั้นอยุธยาจึงอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และขาดทหารป้องกันเมืองเป็นอย่างมาก ความอ่อนแอของอยุธยาเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งกองทัพมารุกรานหัวเมืองชายทะเล ตั้งแต่แถบเมืองจันทบุรีจนถึงเพชรบุรี กัมพูชาได้ส่งกงทัพมาตีหัวเมืองชายทะเลดังกล่าวถึง 6 ครั้งและกวาดต้อนประชากรไปเป็นจำนวนมาก สงครามไทย-กัมพูชานี้เป็นสงครามที่ประทุในแถบชายแดนแถวจันทบุรี และเป็นสงครามที่มีการปล้นสะดมประชากร สงครามในลักษณะดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ พระนเรศวรทรงมีส่วนอย่างมากในการป้องกันอยุธยาในครั้งนี้ การสงครามกับกัมพูชาในครั้งนั้นทำให้อยุธยาสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการที่สะสมกำลังคนโดยการโยกย้ายประชากรจากหัวเมืองเข้ามายังอยุธยาทั้งยังสามารถสร้างและซ่อมแซมกำแพงเมืองตลอดจนป้อมปราการ และจัดหาอาวุธยุทธโธปกรณ์เพิ่มเติมโดยปราศจากความสงสัยจากพม่า นอกเหนือจากภัยสงครามภายนอกแล้ว ในสมัยดังกล่าวอยุธยาก็ยังเผชิญกับปัญหาภายในคือ ขบถไพร่ญาณพิเชียร ในปี พ.ศ. 2124 อีกด้วย ในปี พ.ศ. 2124 พระเจ้าบุเรงนอง สวรรคต และพม่าภายใต้ราชวงศ์ตองอูก็ทำท่าจะแตกสลายลง พระนเรศวรได้เสด็จไปยังเมืองพระโคเพื่อไปงานพระศพของกษัตริย์พม่า และน่าจะทรงทราบดีถึงเรื่องโอกาสที่อยุธยาจะได้เป็น เอกราช ในขณะเดียวกันพม่าก็ทราบดีเหมือนกันว่าพระนเรศวรจะเอาใจออกห่าง ดังนั้นจึงได้ใช้มอญให้วางแผนกำจัดพระนเรศวรด้วย แต่พระยาเกียรติพระยาราม ขุนนางมอญกลับนำความลับนี้มากราบทูลต่อพระนเรศวร ดังนั้นพระนเรศวรจึงประกาศ อิศรภาพ ของอยุธยา ตลอดปลายรัชสมัยของพระราชบิดาของพระองค์ พระนเรศวรต้องทำศึกสงครามกับพม่าพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระบิดาสตวรรคต และมีพระชนมายุ 35 พรรษา สงครามยุทธหัตถี หรือการรบชนช้างกันในปี พ.ศ. 2135-2136 นั้นเป็นสงครามที่พระนเรศวรทรงมีชัยชนะเด็ดขาดเหนือพม่า พระมหาอุปราชแม่ทัพพม่า สิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าวของพระนเรศวรที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี สงครามครั้งนี้นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายหลังจากนั้น ไทยกับพม่าก็ค่อนข้างจะว่างการทำสงครามกันกว่า 100 ปี อาณาจักรของพม่าในราชวงศ์ตองอูต้องแตกกระจัดกระจายด้วยปัญหาภายในของตน แม้ไทยกับพม่าจะมีการทำสงครามกันบ้าง แต่ก็เป็นสงครามไม่ใหญ่นัก ส่วนใหญ่เป็นการช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือมอญ (ในพม่าตอนล่างในปัจจุบัน) หรือไม่ก็ช่วงชิงเมืองเชียงใหม่ ตลอดรัชสมัย 15 ปีของพระนเรศวร พระองค์ทรงพยายามสถาปนาความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักรอยุธยาทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางทรงทำให้กัมพูชายอมเป็นเมืองขึ้น ทรงทำสงครามเข้าไปในพม่าขยายเข้าไปในล้านนาเชียงใหม่ ตลอดจนรัฐฉานของพวกไทยใหญ่ ตามหลักประวัติศาสตร์กล่าวว่าพระองค์ทรงสนในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ทรงส่งกองทัพไปช่วยจีนรบกับญี่ปุ่น พระนเรศวรทรงสวรรคตที่เมืองหาง รัฐฉานในพม่า พระชนม์มายุได้ 50 ปี และดูเหมือนว่าพระองค์จะไม่มีพระโอรสหรือธิดา บ้างก็ว่าพระองค์ไม่มีฝ่ายในฝ่ายซ้ำไป ดังนั้นพระอนุชาคือพระเอกาทศรถจึงขึ้นครองราชสมบัติแทน