กรุงโคลอมโบ วัดกัลนียาราชมหาวิหาร (Kelaniya Raja Mahavihara) วัดกัลนียาเป็นวัดใหญ่อยู่ใจกลางเมืองโคลัมโบ ด้านหลังเป็นสวนดอกไม้ติดกับแม่น้ำกัลยาณีนที พุทธศาสนิกชนบางส่วนเดินทางมาวัดทางน้ำด้วยเรือข้ามฟาก มีเทวสถานหลังเล็กสร้างติดรั้ววัดภายในประดิษฐานรูปปั้นของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ในครั้งพุทธกาล องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมายังเกาะลังกาแห่งนี้ 3 ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งแรก หลังจากพระองค์ทรงตรัสรู้ได้ 8 เดือนเศษในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ทรงเสด็จลำพังพระองค์มายัง มหิยังกะนะ เพื่อโปรดชาวเกาะซึ่งในยุคนั้นยังเป็นผู้ป่าเถื่อน หลังจากนั้นทรงเสด็จรอบเกาะลังกา 3 รอบ และทรงตั้งพระทัยแน่วแน่หลังพระองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนาจักสถิตมั่นอยู่ ณ เกาะแห่งนี้ หลังจากนั้นได้เสด็จกลับไปยังนคร พาราณสี ในประเทศอินเดีย การเสด็จมาและกลับในเวลาอันสั้นนั้นเชื่อว่าพระองค์เหาะมา เพราะหากเสด็จดำเนินโดยพระบาทต้องใช้เวลาแรมปี แม้ศาสนาพุทธอุบัติขึ้นในอินเดียแต่กาลต่อมากลับหยั่งรากฝังลึก และเป็นที่ยึดเหนียวในจิตใจของชาวศรีลังกาตราบจนปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนในศรีลังกานั้นปฏิบัติตนสืบต่อกันมาได้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งได้เห็นผู้ใหญ่พาเด็กเข้าวัด ไหว้พระสวดมนต์ตั้งแต่เยาว์วัย ตามครรลองนี้เชื่อได้ว่าความเข้มข้นของพุทธศาสนิกชนในศรีลังกาเป็นดังที่พระองค์ตั้งพระทัยทุกประการ ครั้งที่ 2 ทรงเสด็จมาลำพังพระองค์อีกครั้ง เพื่อทรงปราบพญานาคนามว่า มโหทร และ จูโฬทร ซึ่งเป็นลุงหลานกันและต่างทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งบัลลังก์ทอง ทรงเทศน์โปรดพญานาคทั้งสองให้เห็นโทษแห่งการวิวาทขาดสติไร้เมตตา สองลุงหลานเมื่อบรรลุถึงหลักคำสอนได้พร้อมใจถวายบัลลังก์ให้แก่พระองค์ พระองค์ทรงมอบคืนให้ สถานที่ซึ่งทรงประทับและจัดตั้งบัลลังก์ถวายนี้ ปัจจุบันคือบริเวณวัดเกลานียานี่เอง ส่วนบัลลังก์ทองในภายหลังได้สร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ครอบไว้ ครั้งที่ 3 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 8 ปีหลังจากทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเสด็จพร้อมสาวกจากเมืองกบิลพัศด์และเมืองโกลิยะจำนวนมาก เมื่อได้รับอาราธนาจากพระเจ้ามณีอักขิกะ ประทับบริเวณวัดเกลานียาและเสด็จต่อไปยังเขาสุมนกูฏ ทรงประทับรอยพระบาทบนยอดเขาแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ศรีปาทะ หรือ ศิริปาทะ แต่ไหงกลับรู้จักในชื่อว่า Adam Is Peak ไปได้ก็ไม่รู้ ซึ่งเราได้มีโอกาสเห็นเขาสำคัญนี้และจะนำเสนอท่านในภายหลัง จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ภายหลังเป็นสถานที่ตั้งของสถูปเจดีย์สำคัญได้แก่ ธูปารามเจดีย์ มหานาคเจดีย์ ลังการามเจดีย์ มุติงคณะเจดีย์ มริจจวัตติเจดีย์ ทีฑวาปีเจดีย์ สถานที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯลฯ พระองค์ทรงเข้านิโรธสมาบัติทุกแห่งที่ได้ประทับ แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี วัดกัลนียาจึงมีความสำคัญสมกับที่พุทธศาสนิกชนอย่างเราต้องเข้ามาสักการะสักครั้ง บริเวณวัดอยู่บนเนินสูง ด้านข้างมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหน่อของต้นเดิมจากกรุงอนุราธปุระที่ชาวโคลอมโบหรือชาวศรีลังกาต่างให้ความเคารพ การถวายสักการบูชาด้วยน้ำมัน ธูป ดอกไม้ ทุกคนเดินเข้าแถวอย่างมีระเบียบ สีหน้านั้นบอกถึงความมุ่งมั่นและเปี่ยมไปด้วยศรัทธา เราจะเห็นเจดีย์ทรงลังกาสีขาวขนาดใหญ่เด่นเป็นสง่าเหนือเนินดิน ทางเข้าภายในองค์พระเจดีย์สะดุดตาตั้งแต่บริเวณก้าวแรกก่อนขึ้นบันได ศิลปะแกะสลักหินเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งดวง หรือ มูนสโตน (Moonstone) แบ่งออกเป็น 4 ชั้น รอบนอกสุดเปรียบดังเปลวไฟแห่งกิเลส อันได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ หากตกอยู่ในบ่วงกิเลสถูกเผาไหม้มิอาจก้าวข้ามสู่คุณธรรมความดีงามชั้นที่ 2 ถัดเข้ามาสลักเป็นรูปพาหนะทั้ง 4 คือ ช้าง ม้า วัว และสิงห์โต อันเป็นสัญลักษณ์ของความพากเพียร เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ถัดเข้ามาชั้นที่ 3 คือ หงส์ แสดงถึงความสำเร็จเบื้องต้นคือ ศีลวิสุทธิ เมื่อได้เร่งรุดปฏิบัติดังนี้แล้วย่อมบรรลุเป้าหมายภายในสูงสุด ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์เป็นรูปดอกบัวคือมุ่งสู่นิพพาน อันเป็นปริศนาธรรม ตีความตามพระไตรปิฎกซึ่งมีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าศิลาธรรมดา ศิลปะเชิงบันได สลักเป็นรูปทวารบาลทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ ท้าวธตรฐจ้าวแห่งคนธรรพ์ ท้าววิฬุรหกจ้าวแห่งเทวดา ท้าววิรูปักษ์จ้าวแห่งนาค และท้าวกุเวรจ้าวแห่งยักษ์ หากพิจารณากันให้ละเอียดจะเห็นพระหัตถ์ข้างหนึ่งทูนหม้อน้ำ พระหัตถ์อีกข้างหนึ่งถือช่อดอกไม้บ้างให้รายละเอียดลงไปว่าคือช่อดอกมะพร้าว ซึ่งทั้งสองสิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ เจดีย์ขาวขนาดใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบโอคว่ำ ทรงนี้นิยมกันมากในอินเดียสมัยโบราณ เรียกว่า ศิลปะสาญจิ เจดีย์สร้างครอบบัลลังก์ทองที่ประทับของพระพุทธองค์ในครั้งพุทธกาล ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงาม ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติในเกาะลังกาที่เด่นๆ ได้แก่ ภาพพระนางสังฆมิตตาเถรี ขณะนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาสู่เกาะลังกาทางเรือ โดยมีพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ทรงพระดำเนินลงทะเลเพื่ออัญเชิญขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาพการถวายสมณศักดิ์พระสรณังกรขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งศรีลังกาฝ่ายสยามวงศ์ ภาพสมเด็จพระสังฆราชประทานคัมภีร์ทางพุทธศาสนาให้แก่พระพุทธโฆษาจารย์ ภาพพระราชพิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว และประเพณีสำคัญอันมีขบวนช้างร่วมแห่แหน ซึ่งช้างนี้นับได้ว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชาวศรีลังกาเช่นเดียวกับของไทยเรา ภาพประวัติการสร้างวัดเมื่อพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ทรงโปรดให้นำช้างหลายเชือกมาปรับพื้นที่ภายในพระราชอุทยานมหาเมฆ เพื่ออุทิศถวายให้เป็นวัดราชมหาวิหาร และภาพความศรัทธาของพระองค์ได้อาราธนาพระมหินทเถระและพระภิกษุสงค์เข้าสู่กรุงอนุราธปุระ ศาสนาพุทธได้รับการเผยแผ่อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติในที่สุด แต่มีภาพหนึ่งซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญได้ประทับใจจนต้องยืนชื่นชมอยู่นาน คือ ภาพพระทันตกุมาร ทรงนำ พระนางเหมาลาเทวี เสด็จหนีภัยจากอินเดียสู่ศรีลังกา โดยพระนางทรงซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในมุ่นมวยผมดังปรากฏรัศมีแผ่อยู่เหนือพระเศียร และยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางไสยาสน์ ปางสมาธิ ภายในโบสถ์ เราเข้าไปกราบพระพุทธรูปประธาน ชาวศรีลังกาเข้ามานั่งว่ายพระสวดมนต์แต่ดูแปลกตาตรงที่บางคนนั่งยองๆ พนมมือ บางคนนั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้าพนมมือ นั่งแบบหลังคงสบายไม่ต้องกลัวเป็นเหน็บชาเหมือนนั่งพับเพียบแบบของเรา ครั้งแรกดูขัดตา ดูไปดูมาเห็นเช่นนี้ทุกแห่งในวัดเลยเกิดความเคยชิน นั่งกราบพระแบบเราเสียอีกกลายเป็นของแปลกและเป็นเป้าสายตาทุกที่ไป วัดคงคาราม (Gangaramaya Temple) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ศรีชินรัตนา เป็นวัดในนิกายสยามวงศ์ อารามนี้แต่เดิมสร้างอยู่กลางน้ำ เมื่อมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นอยู่ริมฝั่งในที่สุดเหมือนพระสมุทรเจดีย์ของจังหวัดสมุทรปราการ ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ 1 ดอลล่าร์ ฝากรองเท้าเสร็จสรรพเราเดินลัดเลาะด้านข้างไปยังด้านหลังก่อน สักการะรูปพระอวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิม พระพุทธรูปแบบพม่า พระพุทธโฆษาจารย์ (โต พรหมรังษี) และเป็นที่ประดิษฐานพระจากหลายชาติ เดินขึ้นชั้นบนอาคารไม้ แสดงเหรียญภาพวาดพุทธประวัติ รอยพระพุทธบาท เป็นห้องรวบรวมพระพุทธรูปจากพุทธศาสนิกชนทั่วทุกมุมโลก เราเดินตามทางไม้ลัดเลาะทางด้านข้างเห็นต้นไทรรูปร่างประหลาดคล้ายเท้าคน วัดนี้ต่อเติมหลายส่วนทางเดินถึงกัน ด้านขวามือสร้างคล้ายบุโรพุทโธในอินโดนีเซีย ด้านล่างเป็นแปลงเพาะต้นวนิลา เจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ขนาบด้วยต้นมะม่วง สายลมด้านหลังซึ่งพัดผ่านแม่น้ำช่วยคลายความร้อนได้ดี สามารถนมัสการพระประธานภายในโบสถ์ พระพุทธรูปปางสมาธิทรงจีวรสีเข้ม บานหน้าต่างเปิดเพียงบางส่วนทำให้สาวก พระสาลีบุตร และพระโมคคัลลานะ จิตรกรรมฝาผนังถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติ บางส่วนเป็นภาพปูนปั้นของเทวดา และพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะรับฟังพระธรรมเทศนาจากพุทธองค์ แต่ภาพบางส่วนนูนออกมาจากผนังดูคล้ายปฏิมากรรมในโบสถ์คริสต์ สีสันสวยงามสดใส ยังมีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ศรีลังกายุคอาณานิคม หลังจากศรีลังกาถูกรุกรานโดยโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 เข้ายึดครองอาณาจักรทมิฬซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะในปัจจุบันคือเมืองจาฟนา (Jaffna) ในปี ค.ศ.1658 (พ.ศ.2201) ชาวดัทช์เข้ามาขับไล่โปรตุเกสและถือครองอยู่นานถึง 136 ปี จากนั้นอังกฤษเข้ามาปกครองอีกในปี ค.ศ.1795 (พ.ศ.2338) นานถึง 153 ปี และได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อังกฤษได้วางแบบแผนดีๆ หลายอย่างไว้ให้เช่น การชลประทาน ผังเมือง ความมีระเบียบวินัยตามประสาผู้ดีเก่า แต่ได้ทิ้งระเบิดเวลาไว้ลูกหนึ่งซึ่งกลไกของมันกำลังค่อยๆ ทำงาน และทำงานอย่างต่อเนื่งเต็มประสิทธิภาพ ก่อนปล่อยให้ศรีลังกาคืนสู่อิสระภาพ อังกฤษได้นำชาวทมิฬซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทางเหนือของเกาะ นัยว่าเป็นกรรมกรใช้แรงงาน ตามด้วยพวกมีการศึกษาคราวนี้ให้เหตุผลว่า ใช้งานคุยกันรู้เรื่อง ชาวทมิฬมี 4-5 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู กลับมีบทบาทอำนาจบริหารประเทศ ปล่อยให้ชาวสิงหลซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินเกิดซึ่งมีถึง 17 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธได้แต่ดูผลงานซึ่งอังกฤษทิ้งไว้ เมื่ออังกฤษจำยอมคืนเอกราชให้ศรีลังกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล กลับมามีอำนาจการปกครองดังเดิมแม้มีคนมากกว่า แต่ความไม่พร้อมในระยะแรกทำให้การถ่ายโอนอำนาจค่อยเป็นค่อยไปจนจัดการปกครองได้สมบูรณ์แบบเต็มที่ในที่สุด
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028