ข้อมูลท่องเที่ยวปีนัง (Penang) เกาะปีนัง หรือที่ชาวไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคุ้นเคยในชื่อเกาะหมาก เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรี ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่าเป็นหัวเมืองมลายูที่ขึ้นต่อสยามประเทศ แต่ภายหลังเมื่อการล่าเมืองขึ้นขยายตัวมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ไทยจึงต้องเสียดินแดนทางภาคใต้แก่อังกฤษ อันประกอบด้วย 4 เมือง คือ ปะลิส กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี (รัฐเกดะห์ในปัจจุบัน) อังกฤษเข้าครอบครองปีนังเนื่องากรัฐบาลอังกฤษมีนโยบายขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในปี พ.ศ. 2329 ชาวอังกฤษนามว่าฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) แห่งบริษัทอินเดียตะวันออกเล็งเห็นความโดดเด่นในการพัฒนาเพื่อเป็นเมืองท่าเรือจึงเจรจากับสุลต่านแห่งรัฐเกดะห์ เพื่อขอเกาะปีนังโดยแลกกับการคุ้มครองด้วยกองกำลังทหารอังกฤษเพื่อแยกรัฐเกดะห์ (หรือไทรบุรี) จากการปกครองของสยามประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นแหงการเสียดินแดนของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งรัฐปีนัง ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของรัฐปีนัง แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ เกาะปีนังซึ่งเป็นท่าเรือ กับฝั่งบัตเตอร์เวิร์ท บนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและศูนย์กลางการคมนาคมของรัฐ การเดินทางระหว่างเกาะปีนังกับบัตเตอร์เวิร์ทมีสองทางคือ เรือข้ามฟาก และรถยนต์โดยใช้สะพานปีนัง ซึ่งมีความยาว 13.5 กิโลเมตร นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) เมืองแรกของเกาะปีนังที่ได้รับการพัฒนาเป็นท่าเรือ มีสิ่งก่อสร้างยุคอาณานิคมมากาย เมืองจอร์จทาวน์นี้ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษและสถานที่สำคัญในเมืองจอร์จทาวน์ เช่น ป้อมฟอร์ตคอร์นวอลลิส (Port Cornwallis) สถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปีนัง เพราะเป็นสถานที่ซึ่งฟรานซิส ไลต์ ยกพลขึ้นบกและพัฒนาปีนังจนกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญต่อมา Town Hall & City Hall ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการปกครองในปีนัง สร้างขึ้นสมัยที่ปีนังยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2423 รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบบริติชเอ็มไพร์ (British Empire) พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ปีนัง (Penang Museum and Art Gallery) เป็นอาคารจัดแสดงภาพวาดและภาพถ่าย และจำลองวิถีชีวิตของชาวปีนังในอดีต คฤหาสน์เฉิงฟัตเต๋อ (Cheong Fatt Tze Mansion) คฤหาสน์เก่าแก่หลังงามอายุร่วมร้อยปีของคหบดีชาวจีนนาม เฉิงฟัตเต๋อ สีฟ้าสดใสจนได้รับฉายาว่า Blue Mansion ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับล้ำค่าต่าง ๆ วัดเจ้าแม่กวนอิม (Goddess of Mercy Temple) วัดจีนขนาดใหญ่ที่มีเจ้าแม่กวนอิมองค์สีทองประดิษฐานอยู่ภายใน ทุกวันจะมีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเข้ามาที่วัดเพื่อนมัสการเจ้าแม่กวนอิมเป็นจำนวนมาก ฝั่งตรงข้ามของวัดนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวอินเดีย (Little India) มีวัดศรีมหามาเรียมมัน (Sri Mahamariamman Temple) ศาสนสถานของชาวฮินดูเป็นจุดศูนย์กลางด้วย มัสยิดกัปปิตันเคอลิง (Kapitan Kelling Mosque) สร้างขึ้นโดยกัปตันเคอลิง พ่อค้าชาวอินเดียด้วยศิลปแบบมัวร์มีโดมขนาดใหญ่ดูโดดเด่นอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของมัสยิด นอกจากนี้ยังมีมัสยิด Acheen Stree Malay หรือที่ชาวปีนังเรียกติดปากว่า มัสยิดมลายู (Masjid Melayu) และวัดจีนอีกสองแห่ง คือ คูกงสี (Khoo Kongsi Temple) และหันเจียง (Han Jiang Ancestral Temple) บนถนนเลียบชายฝั่งทะเล ถนนเปงกลันเวลด์ (Pengkalan Weld) ซึ่งสองฝั่งถนนเต็มไปด้วยอาคารในยุคล่าอาณานิคมหลายแห่ง และยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือข้ามฟากไปยังบัตเตอร์เวิร์ทและท่าเรือไปยังเกาะลังกาวีอีกด้วย และสุดถนนเป็นวงเวียนที่ตั้งหอนาฬิกาควีนวิคตอเรีย (Queen Victoria Memorial Clock Tower ซึ่งเป็นหอนาฬิกาสูง 60 ฟุต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2463 เพื่อระลึกถึงวาระครบรอบเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษาของพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ปัจจุบันในย่านจอร์จทาวน์มีศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่นามว่า Komtar เป็นอาคารที่สูงที่สุดในปีนัง สูง 232 เมตร 65 ชั้นย่อมาจาก Komplex Tun Abdul Razak ตามชื่อของนายกรัฐมนตรีคนที่สองของมาเลเซีย ภายในมีห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร และหอประชุม โดยที่ชั้นที่ 55 เปิดเป็นจุดชมวิวของเมืองจอร์จทาวน์ซึ่งสามารถมองไปถึงฝั่งบัตเตอร์เวิร์ท ปีนังฮิลล์ (Penang Hill) เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของเกาะปีนัง สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์บนยอดเขาด้วยการขึ้นรถรางที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ไปชมวิวของเกาะปีนังที่ความสูงถึง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล วัดศรีรุทราวีรามุทูมหามาเรียมมัน (Sri Rutha Veeramuthu Maha Mariamman Devasthanam) เป็นวัดในศาสนาฮินดูที่งดงามยิ่งด้วยรูปปั้นเหล่าทวยเทพที่มีสีสันสดใสและลวดลายแกะสลักที่สวยงาม วัดเค้กลกซี (Kek Lok Si) เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายานตั้งอยู่บนเขาไอเยอร์อิตาม (Air Itam) สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือเจดีย์สีทองแปดเหลี่ยมบนยอดเขา ซึ่งโดยรอบองค์เจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักมากกว่า 10,000 องค์
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028