อำเภอสุวรรณภูมิ
กู่พระโกนา
ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2
ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางตามทางหลวงสาย
215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสาย 214
ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากจังหวัด
ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ
ด้านหน้าเป็นสวนยาง กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์
บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน
ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ
แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค
6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน
แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ
ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม
คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ
ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล
นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค
และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ
หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร
จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก
และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630
(แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่
16
สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตากแดด ตำบลหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ
ลักษณะทางศิลปกรรม เป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ
มีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบหน้าบันและรังผึ้งของสิมมีลายแกะสลักสวยงามภายในมีจิตรกรรมหรือ
ฮูปแต้ม แสดงเรื่องในพุทธศาสนา สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้านนอกสิมมีพระพุทธรูปแบบอีสานขนาดใหญ่ ซึ่งย้ายมาจากวัดใต้วิไลธรรม
ในเขตอำเภอเดียวกัน (สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อ
พ.ศ.2541 และได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามประจำปี
2541)
อำเภอเสลภูมิ
บึงเกลือ
(บุ่งเกลือ) อยู่ในเขตตำบลเมืองไพร ห่างจากตัวอำเภอเสลภูมิไปทางทิศตะวันออกประมาณ
10 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ ในบึงน้ำแห่งนี้มีน้ำขังตลอดปี
ริมบึงมีหาดทรายขาวสะอาด กว้างขวาง ในวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าท่องเที่ยวพักผ่อนกันมากมาย
อำเภออาจสามารถ
สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ
(วัดหนองหมื่นถ่าน) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน
ตำบลหนองหมื่นถ่าน มีลักษณะทางศิลปกรรมเป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน
ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ ภายนอกมี
ฮูปแต้ม เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์
ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี
ภายในมีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อำเภอโพนทอง
แหลมพยอม
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณทิศตะวันออกของบึงโพนทอง
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพนทองไปทางทิศตะวันออก
(ถนนสายอำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
อำเภอหนองพอก
วนอุทยานผาน้ำย้อย
(พุทธอุทยานอีสาน) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง
ตำบลผาน้ำย้อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ เดินทางโดยรถยนต์สายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก
ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข
2044 และ 2136 ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจได้แก่
ผาน้ำย้อย
เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลตกและซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว
บ้านโคกกลาง ตำบลโคกสว่าง มีเนื้อที่ป่ารอบๆ บริเวณหน้าผาพื้นที่ประมาณ
20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด นับเป็นป่าที่มีค่าและหายากยิ่ง
มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า
ฯลฯ
ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ
200 เมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 380-500 เมตร เป็นภูเขาแบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง
จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บนเขาลูกนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่งสร้างในพื้นที่
2,500 ไร่ ตามไหล่เขามีศาลาการเปรียญที่ใหญ่โตมาก มีขนาดกว้าง
40 เมตร ยาว 80 เมตร วัดนี้มีชื่อว่า "วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม"
โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น
ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล
เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง 101
เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101
ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตัวองค์พระธาตุได้แบ่งเป็น
5 ชั้น และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก
พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี
เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในวรรณคดีประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมะอี่ ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 85 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,000
ไร่ เป็นเนื้อที่สำหรับปลูกต้นไม้แบ่งตามวรรณคดี เช่น เรื่องพระเวสสันดร
ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเบงพ่าย ลานพุทธประวัติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแยกตามสรรพคุณ
บริเวณสวนมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์
ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองพอก ครอบคุมดูแลพื้นที่ประมาณ
151,242 ไร่ หรือประมาณ 242 ตารางกิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่จะเป็นเทือกเขาหินทรายสูงชันและสลับซับซ้อน
ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์
สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่าแห่งนี้ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ หมูป่า
สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณเขตห้ามล่าฯ
คือ ผาพยอม ซึ่งเป็นจุดที่ใช้สำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น และผาน้ำทิพย์ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ชมพระอาทิตย์ตกดิน |