อำเภอพิมาย
อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านสัมฤทธิ์ตะวันออก ต.สัมฤทธิ์
ห่างจากตัวเมือง 46 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข
2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 43-44 แยกขวาเข้าไปประมาณ
3 กิโลเมตร บริเวณที่โล่งกว้างนี้เคยเป็นสนามรบระหว่างชาวโคราชและทหารลาวเมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่
3 ปัจจุบันมีการสร้าง ศาลสถิตย์ดวงวิญญาณนางสาวบุญเหลือและวีรชน
ซึ่งชาวบ้านสัมฤทธิ์ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2531 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ดวงวิญญาณของนาวสาวบุญเหลือและวีรชนชาวโคราชที่ได้ทำการต่อสู้กับกองทัพลาวจนได้ชัยชนะ
มีการจัดงานฉลองและรำลึกถึงวีรกรรมทุกปี ระหว่างวันที่ 3-5
มีนาคม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย บริเวณเชิงสะพานท่าสงกรานต์
ก่อนถึงปราสาทหินพิมายเล็กน้อย จากตัวเมืองนครราชสีมาเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข
2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ระยะทาง 50 กิโลเมตรถึงทางแยกตลาดแคเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง
206 อีก 10 กิโลเมตร หากใช้บริการรถโดยสารสามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งแห่งที่
2 ในตัวเมืองนครราชสีมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสถานที่รวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมอีสานในอดีต
โดยเฉพาะโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบในเขตอีสานตอนล่าง แบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์
และ ส่วนอาคารเก็บทับหลัง ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ได้รับการยกย่องว่ามีการจัดวางศิลปโบราณวัตถุต่างๆ
ไว้อย่างสวยงามน่าชมเป็นระเบียบ ทันสมัย แบ่งการจัดแสดงเป็นหลายส่วนเช่น
ศิลปพื้นบ้านแบบภาคอีสาน อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน
เช่น โตก ครกกระเดื่อง หีบฝ้าย เกวียน ขนอนไม้สำหรับบรรทุกข้าวเปลือกจากนาสู่ยุ้งข้าว
หรือ เครื่องใช้สำหรับพระภิกษุสามเณร และมีส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติเมืองพิมายและทับหลังที่นำมาจากปราสาทหินต่างๆในจังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสาน
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดงได้แก่
เครื่องปั้นดินเผาโบราณ โครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องประดับที่ทำจากสำริดและหิน
และโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ได้แก่ ใบเสมาแบบศิลปทวารวดี
ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบเขมร เช่น หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู
ทวารบาล และประติมากรรมรูปเคารพ อาทิ พระพุทธรูป เทวรูป รูปพระโพธิสัตว์
และประติมากรรมชิ้นเด่นของพิพิธภัณฑ์คือรูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ทำจากหินทรายพบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทหินพิมาย ชั้นที่สองจัดแสดงเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมของภาคอีสานในอดีต
ชุมชนแรกเริ่ม อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ
30 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 4447 1167
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยขอมที่ใหญ่โตและงดงามอลังการนั่นคือปราสาทหินพิมาย
แหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ 115
ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 565 เมตร ยาว 1,030
เมตร ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ
ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิ-มาย
และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนาสถานสิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย
คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศ-ธรปุระ
เมืองหลวงของอาณาจักรเขมรซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการก่อสร้าง
บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายคงจะเริ่มสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่
16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบปาปวนซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น
โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปนอยู่บ้าง
และมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร
ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานมาโดยตลอด
เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
ปราสาทหินพิมายมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจดังนี้
สะพานนาคราช เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก
จะเห็นสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธานซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท
ทั้งนี้อาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์
ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
มีลักษณะเป็นรูปกากบาท ยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50
เมตร ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวพญานาค ชูคอแผ่พังพานเป็นนาคเจ็ดเศียร
มีลำตัวติดกันเป็นแผ่น หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ
ซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกของปราสาท ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตูหรือที่เรียกว่า
โคปุระ ของกำแพงปราสาทด้านทิศใต้ ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก
3 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ยาวจากเหนือถึงใต้ 277.50 เมตร และกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก
220 เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม
ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน
(ระเบียงคด) เมื่อผ่านจากซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกไปแล้ว
ก็จะถึงซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน ซึ่งล้อมรอบปรางค์ประธาน กำแพงชั้นในของปราสาทแตกต่างจากกำแพงชั้นนอก
คือ ก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันคล้ายเป็นทางเดินมีหลังคาคลุม
อันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ระเบียงคด มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ความยาวจากเหนือถึงใต้ 80 เมตร และความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตก
72 เมตร มีทางเดินกว้าง 2.35 เมตร เดินทะลุกันได้ตลอดทั้งสี่ด้าน
หลังคามุงด้วยแผ่นหิน การบูรณะระเบียงคดเมื่อปีพ.ศ 2532 ได้พบแผ่นทองดุนลายรูปดอกบัว
8 กลีบ บรรจุไว้ในช่องบนพื้นหินของซุ้มประตูระเบียงคดเกือบจะทุกด้าน
แผ่นทองเหล่านี้คงไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลเหมือนที่พบในปราสาทอื่นอีกหลายแห่ง
ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด
เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ ปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์
ต่างจากซุ้มประตู(โคปุระ)และกำแพงชั้นในและชั้นนอกที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นหลัก
มีหินทรายสีขาวเป็นส่วนประกอบบางส่วน เนื่องจากหินทรายสีขาวมีคุณสมบัติคงทนดีกว่าหินทรายสีแดง
องค์ปรางค์สูง 28 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ
22 เมตร ด้านหน้ามีมณฑปเชื่อมต่อกับองค์ปรางค์โดยมีฉนวนกั้น
องค์ปรางค์และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนด้านอื่น ๆ อีกสามด้านมีมุขยื่นออกไปมีบันไดและประตูขึ้นลงสู่องค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน
ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้ายสร้างด้วยศิลาแลง
มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง 14.50 สูงประมาณ 15 เมตร
สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภายในปรางค์พบประติมากรรมหินทรายจำหลัก
เป็นรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่7 (จำลอง)
ที่เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต ก็เพื่อให้เข้ากับตำนานพื้นเมืองเรื่องท้าวพรหมทัตพระเจ้าแผ่นดิน
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เก็บรักษาองค์จริงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ทางด้านขวา สร้างด้วยหินทรายสีแดง กว้าง
11.40 เมตร สูง 15 เมตร มีมุขยื่นออกไปเป็นทางเข้าทั้ง 4 ทิศ
เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะตอนกรรณะล่าหมูป่า
ออกจากระเบียงคด (กำแพงชั้นใน) มาบริเวณลานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันตก
ล้อมรอบด้วยกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยอาคารที่เรียกว่า
บรรณาลัย มีสองหลังตั้งอยู่คู่กันและมีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน
เวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ
40 บาท มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี
โบราณสถานนอกกำแพงปราสาทหินพิมาย
มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
ประตูเมืองและกำแพงเมืองพิมาย
สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บรรดาประตูเมืองทั้ง
4 ทิศ ประตูชัยด้านทิศใต้นับเป็นประตูเมืองที่สำคัญที่สุด
เพราะรับกับถนนโบราณที่ตัดผ่านมาจากเมืองพระนครเข้าสู่ตัวปราสาทพิมาย
หากหยุดยืนที่ช่องประตูเมืองด้านทิศใต้ จะมองเห็นปราสาทหินพิมายผ่านช่องประตูเมืองพอดี
ลักษณะประตูเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางผ่านตลอดกลางประตู
ส่วนของหลังคาได้หักพังไปหมดแล้ว
เมรุพรหมทัต อยู่นอกกำแพงปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันเป็นมูลดินทับถมจนเป็นรูปกลมสูงประมาณ
30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 59 เมตร ที่เรียกว่าเมรุพรหมทัตเพราะเชื่อว่าเป็นที่ถวายเพลิงพระศพท้าวพรหมทัตตามตำนานนั่นเอง
แต่จากลักษณะการก่อสร้างเข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานทางด้านทิศใต้ได้แก่ ท่านางสระผม กุฏิฤาษี
และ อโรคยาศาล
ไทรงาม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล
บริเวณเขื่อนพิมาย โดยก่อนข้ามสะพานท่าสงกรานต์เข้าตัวอำเภอพิมาย
จะมีทางแยกไปเขื่อนพิมายอีกประมาณ 2 กิโลเมตร บรรยากาศไทรงามแห่งนี้มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ไทรเหล่านี้เกิดจากต้นแม่อายุประมาณ 350 ปี แผ่กิ่งก้านสาขาออกรากซึ่งเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่มากมายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง
ประมาณ 15,000 ตารางฟุต สถานที่นี้มีชื่อเสียงรู้จักกันมานานตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่
5 เสด็จประพาสเมืองพิมายเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2454 และได้พระราชทานนามว่า
ไทรงาม ในบริเวณใกล้เคียงมีร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหารหลายร้าน
อาหารที่นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานกันมากคือ ผัดหมี่พิมาย(ผัดหมี่โคราช)ที่เส้นเหนียวนุ่มน่ากินไม่แพ้ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสุกรบ้านน้อยสามัคคี
ม.15 ต.ในเมือง ห่างจากแยกตลาดแค (เส้นทางตลาดแค-พิมาย) ประมาณ
9 กิโลเมตร ก่อนถึงโรงพยาบาลพิมาย จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ
500 เมตร เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตสินค้าแปรรูปจากเนื้อหมู
เช่น ไส้กรอกอีสาน, หมูแผ่น, หมูหยอง, ลูกชิ้นหมู, หมูแดดเดียว
รสชาติอร่อย สะอาด ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานส่งเสริมการเกษตรดีเด่น
ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2543 สนใจเข้าชมขั้นตอนการผลิต
ติดต่อล่วงหน้าที่ นางจันทร์เพ็ญ อริยเดช ประธานกลุ่มแม่บ้านฯ
โทร. 0 4428 5297
ไร่องุ่นเพชรพิมาย
อยู่ที่บ้านนิคมสร้างตนเอง สาย 4 ซอย 2 ห่างจากอำเภอพิมายประมาณ
13 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2163 (พิมาย-หินดาด) มีป้ายบอกทางเข้าไร่ชมและเลือกซื้อองุ่นสดๆ
ปลอดสารพิษ ทั้งชนิดมีเมล็ดและไม่มีเมล็ด โดยการตัดจากต้นด้วยตัวเอง
สนใจเข้าชมติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0 4447 1333, 0 2966
8694
อำเภอประทาย
ปราสาทนางรำ ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ
ตำบลนางรำ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ
62 กิโลเมตร จนถึงแยกบ้านวัด เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข
207 ไปประมาณ 22 กิโลเมตรถึงบ้านหญ้าคา (หรือก่อนถึงตัวอำเภอประทาย
11 กิโลเมตร) จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าวัดปราสาทนางรำอีก 4
กิโลเมตร ชื่อ ปราสาทนางรำ มาจากว่า เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป
อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน
ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น
อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 กลุ่มตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน กลุ่มปรางค์ที่สมบูรณ์กว่าหลังอื่นประกอบด้วยปรางค์องค์กลาง
มีมุขยื่นออกไปข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ส่วนซุ้มโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก
มีแผนผังเป็นรูปกากบาท นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง
ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้
ซึ่งเหลือเพียงฐานและมีกรอบประตูและทับหลังหินทรายตั้งแสดงอยู่
มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ
อำเภอบัวใหญ่
ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านกู่
ตำบลดอนตะหนิน จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น)
ไปประมาณ 74 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงตู้ยามตำรวจทางหลวงบ้านโนนตาเถรไปอีกประมาณ
6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปทางโรงเรียนวัดบ้านกู่ ลักษณะเป็นปรางค์สมัยขอมขนาดเล็ก
ฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันจากฐานถึงยอด แต่ปัจจุบันสภาพปรักหักพังไปแล้ว
หลงเหลือเพียงซากฐานไม่สูงนัก ภายในองค์ปรางค์มีพระพุทธรูปดินเผาซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นอยู่
4-5 องค์
กิ่งอำเภอสีดา
ปรางค์สีดา ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์สีดา
ตำบลสีดา จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น)
ไปประมาณ 84 กิโลเมตร ถึงบริเวณสี่แยกสีดาเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงเลข
202 (ไปทางอำเภอประทาย) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าวัดอีกราว
2 กิโลเมตร ปรางค์สีดามีลักษณะคล้ายปรางค์กู่ที่ตำบลดอนตะหนิน
แต่ปรางค์สีดาปิดทึบทั้งสี่ด้าน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์
ศิลปะแบบเขมรโบราณ ก่อด้วยศิลาแลงจำนวน 1 หลัง มีลวดลายปูนปั้นประดับหันหน้าไปทางทิศตะวันออกล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 1718
อำเภอขามทะเลสอ
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลขามทะเลสอ
ตั้งอยู่เลขที่ 92/1 ม. 5 บ้านโคกแฝก ตำบลขามทะเลสอ ห่างจากจังหวัดนครราชสีมา
ประมาณ 23 กิโลเมตร จากที่ว่าการอำเภอขามทะเลสอ เลี้ยวขวาทางเข้าวัดป่าอิสริการาม
ระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการประปาตำบล เลี้ยวซ้ายอีก 500
เมตร เข้าถนนสุขพัฒนา เป็นไร่นาสวนผสมที่มีทั้งแปลงปลูกข้าว
ไม้ผล เลี้ยงไก่บนบ่อปลา เลี้ยงไก่และเป็ดไก่ ฯลฯ สนใจเยี่ยมชม
ติดต่อ นายเจริญ ชาญสูงเนิน โทร. 0 4433 3049
อำเภอขามสะแกแสง
กลุ่มอาชีพการเกษตรผสมผสานบ้านหนุก
ม.4 ต.ขามสะแกแสง ห่างจากที่ว่าการอำเภอขามสะแกแสงประมาณ
5 กิโลเมตร ตามเส้นทางขามสะแกแสง - โนนสูง เป็นไร่นาสวนผสมของนายสลิด
มุ่งแฝงกลาง มีแปลงสาธิตจัดเป็นส่วน เช่น นาข้าว สวนกล้วย
ฝรั่ง และบ่อปลา เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดระดับภาค
ปี 2541
อำเภอห้วยแถลง
หมู่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหลุ่งประดู่สามัคคี
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ต.หลุ่งประดู่ บนทางหลวงหมายเลข 2163
(เส้นทางพิมาย-หินดาด) บริเวณหลัก กม.ที่ 21 แยกขวามือมีป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านหลุ่งประดู่
รวมระยะทางจากจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 90 กิโลเมตร มีการปลูกหม่อน
เลี้ยงไหม ทอผ้า ในลักษณะครบวงจร ชมกระบวนการฟอก ย้อมสีจากธรรมชาติและสีเคมี
รวมทั้งการสาวไหม การทอผ้าลวดลายโบราณ และสมัยใหม่ สนใจเยี่ยมชม
ติดต่อ นางชูศรี คะเรียงรัมย์ โทร. 0 4423 4797, 0 1265 7306 |