อ.ท่าบ่อ
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ
ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง
การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) แล้วเข้าเส้นทางหมายเลข211(หนองคาย-ท่าบ่อ)
ถึงอำเภอท่าบ่อตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดด้านซ้ายเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ
1 กิโลเมตร เลยตลาดท่าบ่อไปจะเห็นวัด รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ
43 กิโลเมตร
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทอง
ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก
สร้างด้วยทองนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร
สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก
จากหลักฐานศิลาจารึกได้บ่งไว้ว่า พระเจ้าองค์ตื้อสร้างเมื่อพุทธศักราช
2105 ผู้สร้างคือ พระไชยเชษฐา กษัตริย์นครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยพระโอรส
พระธิดา และบริวาร ช่วยกันหล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน
รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ (มาตราโบราณของอีสาน) แต่หล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ
ต่อมาพระอินทร์และเทพยดา 108 องค์ มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ ใช้เวลาในการสร้าง
7 ปี 7 เดือน และทางจังหวัดได้จัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นประจำทุกปี
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
หมู่บ้านประมงน้ำจืด
อยู่ที่ตำบลกองนาง ตามเส้นทางท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืด
มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน
ปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ
โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นที่น่าสนใจในด้านวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง
หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ
อยู่บริเวณเส้นทางจากหนองสองห้องไปอำเภอท่าบ่อ เป็นหมู่บ้านทำแผ่นกระยอซึ่งเป็นแผ่นแป้งสำหรับใช้ทำปอเปี๊ยะ
มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
อำเภอศรีเชียงใหม่
วัดหินหมากเป้ง
ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท โดยอาจารย์เทสก์
เทสรังสี ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์
แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย บริเวณโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ
ร่มรื่นด้วยไม้นานาพรรณ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขง
ทัศนียภาพสวยงาม ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
เมื่อปี พ.ศ. 2523 การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข
211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) วัดหินหมากเป้งจะอยู่ทางขวามือประมาณหลักกิโลเมตรที่
64 ริมถนนด้านขวามือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร
และอยู่ห่างจากตัวอำเภอศรีเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร
อำเภอสังคม
น้ำตกธารทอง
อยู่ในเขตบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลผาตั้ง การเดินทางใช้เส้นทางหนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม
(ทางหลวงหมายเลข 211) ผ่านบ้านไทยเจริญ แล้วต่อไปบ้านผาตั้ง
น้ำตกธารทองจะอยู่ริมทางด้านขวามือ บริเวณหลักก.ม.ที่ 74 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ
11 กิโลเมตร น้ำตกธารทอง เป็นน้ำตก ที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ
30 เมตร เป็นระยะลดหลั่นกันไป ตอนล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และลานหิน
ในแอ่งน้ำสามารถลงไปเล่นน้ำและอาบน้ำได้ ช่วงที่เหมาะสมคือเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
น้ำตกธารทิพย์
หรือน้ำตกตาดเสริม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกธารทอง
ตามทางหลวงหมายเลข 211 บริเวณกิโลเมตรที่ 97-98 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ
2 กิโลเมตร มีป้ายบอกที่ปากทาง ต้องเดินเท้าอีกประมาณ 100
เมตร รวมระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร
น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผา
3 ชั้น ชั้นที่ 1 สูงประมาณ 30 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 100
เมตร ต้องปีนขึ้นไปตามเส้นทางที่ทำไว้ ชั้นที่ 3 สูงประมาณ
70 เมตร มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และจะมีน้ำมากในฤดูฝน นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวแวะชมความงามอยู่เสมอ
อำเภอปากคาด
วัดสว่างอารมณ์
(วัดถ้ำศรีชน) ตั้งอยู่ที่เขตสุขาภิบาลปากคาด ตำบลปากคาด
ห่างจากตัวอำเภอปากคาด 500 เมตร จากตัวเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข
212 ไป 90 กิโลเมตร ถึงบ้านปากคาด วัดสว่างอารมณ์ตั้งอยู่บริเวณเนินเขา
ภายในบริเวณวัดมีโขดหิน หน้าผา ลานหิน มีต้นไม้ปกคลุมโดยทั่วไปเป็นที่ร่มรื่นมีลำธารเล็กๆไหลผ่านพระอุโบสถทรงระฆังคว่ำ
ตั้งอยู่บนเนินสูงภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
บนพระอุโบสถสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบด้านทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งลาว
อำเภอศรีวิไล
ภูทอก
ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร
(วัดภูทอก) อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง ภูทอกมี 2 ลูกคือ
ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย
พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ
การขึ้นภูทอกนั้นเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี
พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง
5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้
ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา
สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง
ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมาก
ผ่านหลืบหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่
4
ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ
สลับกัน เรียกว่า ดงชมพู ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา
ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่
โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด
บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ
400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
ชั้นที่ 5 มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ
และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ
เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่
6 มี ที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ
กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร
อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน
และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขามีความยาว
400 เมตร สุดทางที่ชั้น 7 อันเป็นป่าไม้ร่มครึ้มสวยงาม
การเดินทางสู่ภูทอก
จากตัวเมืองหนองคาย ใช้เส้นทาง 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด
และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล
ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ
แยกเข้าตรงบ้านศรีวิไล สู่บ้านนาคำแคนและเข้าสู่ภูทอก |