อำเภอลืออำนาจ
วัดโพธิ์ศิลา
ตั้งอยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ
สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือใบเสมาสมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว
อายุประมาณ 1,000 ปี ราวพ.ศ.1,200-1,300 ศิลปะขอมแบบไพรกเมง
มีลักษณะเรียว ปลายแหลม คล้ายใบหอกป้าน ด้านล่างคอดส่วนฐานสลักลายดอกบัวบาน
ใบเสมาเหนือแนวกลีบบัวสลักแนวแกนเสมาคล้ายรูปสถูปจำลองหรือปลียอดสถูป
ด้านล่างเป็นรูปหม้อน้ำตั้งซ้อนอยู่บนองค์ระฆังคว่ำ ถัดไปเป็นปล้อง
มีแนวลวดลายบัวคั่นตรงกึ่งกลาง แกนเสมาสลักลายใบไม้ 3 แฉก
หงายขึ้นรับลายดอกไม้ครึ่งดอก ในขอบวงโค้ง 3 วงเรียงต่อกันส่วนยอดเป็นพุ่มปลายแหลมเหมือนยอดธงมีอุบะห้อย
ลวดลายกลีบบัว บนฐานเสมาได้รับอิทธิพลมาจากลายกลีบบัวฐานพระพุทธรูปหรือธรรมจักรศิลปทวาราวดีทางภาคกลางของประเทศไทย
ส่วนลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้ง 3 วงที่เรียงต่อกันเป็นวงเดียวกันนั้นคล้ายคลึงกับลายดอกไม้ครึ่งดอก
ในวงโค้งที่ปรากฎอยู่บนฐานเทวดาซึ่งย่อตัวพนมมือหันเข้าหาจุดกึ่งกลางของทับหลัง
ซึ่งขุดพบที่บริเวณประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์ทิศเหนือของปราสาทเขาน้อยสีชมพู
อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
อำเภอชานุมาน
ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง
อำเภอชานุมานมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางประมาณ 38
กิโลเมตร ทำให้มีลักษณะทางธรรมชาติและทัศนียภาพของบรรยากาศสองฟากฝั่งโขงที่งดงามน่าประทับใจโดยเฉพาะบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน
มีทางเดินเลียบริมฝั่งโขงเป็นระยะทางยาวเหมาะแก่การเดินชมทัศนียภาพ
ในช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ พฤษภาคม) จะมองเห็นแก่งกลางแม่น้ำโขง
เช่นแก่งตางหล่าง ที่หมู่บ้านศรีสมบูรณ์ใกล้กับตัวอำเภอและแก่งหินขัน
ที่บ้านหินขัน(ห่างจากตัวอำเภอไปทางใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร)
อำเภอหัวตะพาน
ศูนย์จำหน่ายหัตถกรรมบ้านคำพระ
ตั้งอยู่ที่บ้านคำพระ ริมทางหลวงสายอำเภอหัวตะพาน-อำนาจเจริญ
ห่างจากที่ว่าการอำเภอหัวตะพานประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้าน
ที่มีสินค้าหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผ้าขิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิต
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสร้างถ่อ
ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร มีถนนลาดยางเข้าถึง
เป็นศูนย์ผลิตและฝึกอบรมงานด้านหัตถกรรมพื้นบ้านหลายประเภท
เช่น การทอผ้า และการเจียรไนพลอย เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถชมวิธีการผลิตและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ด้วย |