วัดทักซัง (Taktshang Goemba) หรือ รังเสือ (Tiger Nest) วัดตักซัง ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตร ชายเขตเมืองพาโร วัดตักซังเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวภูฏานเลื่อมใสศรัทธากันมากที่สุดแห่งหนึ่งในเขตหิมาลัยภายในเขตวัดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั้งสิ้น 13 แห่ง ล้วนมีความเป็นมาเกี่ยวข้องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูฐาน ทักซัง แปลว่า รังเสือ ที่มาของชื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งแรกสร้างวัด โดยมีตำนานเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยศตวรรษที่ 8 ในครั้งนั้น คุรุ รินโปเซทรงขี่นางเสือตัวหนึ่งเหาะมาจากเมืองเค็นปาจงในแคว้นกูร์เตมายังตักซัง (ชาวภูฏานเชื่อว่า แท้จริงแล้ว นางเสือตัวนี้คือศักติของท่านคุรุรินโปเซจำแลงกายมา) แล้วเข้าบำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำรังเสือนานสามเดือน แล้วเทศนาสั่งสอนผู้คนในหุบเขาพาโรจนหันมายอมรับนับถือพุทธศาสนากัน โดยสำแดงกายให้เห็นในภาคคุรุโดร์จี โดรเลอันน่าสะพรึงกลัว และใช้มณฑลกาเกสะกดภูติผีปิศาจร้ายทั้งแปดจำพวกเอาไว้ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่นี่ด้วย หลังคุรุรินโปเสด็จกลับทิเบต ท่านคุรุได้ถ่ายทอดมณฑลกาเกให้กับบรรดาศานุศิษย์ หนึ่งในนั้นคือท่าน ลังเซ็น เปยี ซิงเก ผู้เดินทางมาเป็นอาจารย์ในปี ค.ศ. 853 ชาวบ้านจึงได้เรียกถ้ำที่ใช้บำเพ็ญสมาธิของท่านว่า เปลฟู (แปลว่า ถ้ำเสือของเปยี) หลังจากนั้น ท่านลังเซ็น เปยี ซิงเก ได้เดินทางต่อไปยังเนปาลและมรณภาพลงที่นั่น เทพโดร์จี เล็กปาจีจึงใช้เวทมนต์นำซากสังขารของท่านกลับมายังตักซัง ปัจจุบัน สังขารของท่าน บรรจุอยู่ภายในสถูปกลางห้องทางด้านซ้ายมือตรงสุดปลายบันไดทางขึ้น สถูปองค์นี้ได้รับการบูรณะเมื่อปี ค.ศ.1982-1983 และบูรณะซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 2004 ถ้ำแห่งนี้มาลามะชั้นสูงของทิเบตเดินทางมาเจริญสมาธิกันหลายท่าน อาทิ มิลาเรปะ (ปี ค.ศ.1040-1123) ปาดัมปะ ซังเก (ปีค.ศ.1055-1145) ลามะหญิงมาชิก ลับเดินมา (ปี ค.ศ.1056-1145) และ ทังทน เกลโป (ปี ค.ศ.1385-1464) เป็นต้น วิหารหลังแรกที่สร้างขึ้นที่ตักซัง มีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 14 ผู้สร้างเป็นลามะในนิกายญิงมาปะ สายกาต๊กปา จากทิเบต นามว่า โซนัม เกลซิน ปัจจุบัน วิหารดังกล่าวได้สูญไปแล้ว แต่ยังพอมีร่องรอยภาพเขียนบนแนวผาช่วงที่อยู่เหนือตัววิหารประธานขึ้นไปปรากฎให้เห็น และเชื่อกันว่า น่าจะเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของวิหารหลังดังกล่าว วัดตักซังอยู่ภายใต้การครอบครองของลามะสายกาต๊กปามาจนถึงศตวรรษที่ 17 ครั้นถึง ปี ค.ศ. 1645 ซังดรุงงาวัง นัมเกล ได้เดินทางมาเยือนที่นี่พร้อมพระลามะชั้นสูงในนกายญิงมาปะ นามว่าริกชิน ญิงโป พระในวัดจึงพร้อมใจกันยกวัดให้กับท่านซับดรุง ผู้แสดงเจตน์จำนงจะสร้างโบสถ์วิหารขึ้นใหม่ แต่ในช่วงนั้น ตัวท่านเองก็วุ่นอยู่กับการสร้างพาโรซอง และสุดท้ายก็มรณภาพไปเสียก่อนที่จะทันได้ลงมือทำตามความตั้งใจ จนปี ค.ศ. 1692 เต็นซิน รับเกะ เดสิคนที่ 4 ของภูฏานจึงได้สืบสานความประสงค์ของท่านให้เป็นจริง ด้วยการสร้างวัดขึ้นใหม่ วัดตักซัง ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในช่วงปี ค.ศ. 1861-1885 (สมัยเจเค็มโปองค์ที่ 34 พระนามว่า เชลดรุป เยอเซ) ในปี ค.ศ. 1982-1983 ด้านขวามือของบันไดทางขึ้นมีวิหารหลังหนึ่ง ภายในมีหอบูชาสามหอ หอบูชาด้านหน้ามีถ้ำที่คุรุรินโปเซและท่านลังเซ็น เปยี ซิงเกเคยใช้เป็นที่เจริญสมาธิ ในเดือน เมษายน ค.ศ. 1998 วัดตักซัง เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ภาพเขียนสูญหายไปหมด เช่นเดียวกับงานประติมากรรมบางส่วน แต่ทางการก็มีภาพถ่ายเก็บเอาไว้ทั้งในส่วนของงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ประชาชนกับรัฐบาลจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดตักซังขึ้นมาใหม่ และเมื่อดูจากชัยภูมิที่ตั้งซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างอย่างใหญ่หลวง ก็ต้องนับว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่เป็นผลงานที่น่าอัศจรรย์ใจ สถานที่สำคัญที่สุดของวัดตักซัง คือ ตัวถ้ำซึ่งมีประตูหุ้มแผ่นทองแดงปิดไว้ และจะเปิดให้คนเข้าชมกันแค่ปีละครั้ง ในเดือนห้า ตามปฏิทินของภูฏาน คูหาด้านหน้ามีรูปคุรุโดร์จี โดรเล ปั้นขึ้นจากดินเหนียว ผนังวาดภาพมณฑลคำสอนต่างๆ ของคุรุรินโปเซประดับเอาไว้ เหนือวิหารหลังนี้ขึ้นไปยังมีวิหารอันโอ่อ่าอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่านคุรุรินโปเซกับมณฑลคำสอนและรูปบุคคลสำคัญทางศาสนาทั้งหลาย วิหารพระอมิตายุส (เซเปมา) เป็นวิหารใหม่ และเป็นหนึ่งในวิหารที่มีคนแวะเวียนมาสักการะบูชามากที่สุด ภายในประดิษฐานรูปสลักพระอมิตายุส คุรุโดร์จี โดรเล และคุรุรินโปเซที่มีขนาดใหญ่โตมาก เหนือถ้ำตักซัง มีหมู่วิหารอยู่สามหลัง คือ วิหารตักซังอูเก็นซีมอ สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1408 และสร้างใหม่อีกครั้งหลังถูกเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1958 วิหารตักซังเออเซกัง สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1646 และวิหารตักซังซังโดเปลรี สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1853 ถือเป็นสถานที่ที่จาริกแสวงบุญที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ชาวบ้านนิยมมากราบไหว้สักกาะมากที่สุด ตลอดจนเข้าถึงได้ยากที่สุดด้วย วัดตักซัง ถือกันว่าเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวภูฐาน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัยที่แม้แต่ชาวธิเบตก็ยังดั้นด้นข้ามเขาเพื่อมาสักการะอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกวันนี้แม้กระทั่งชาวตะวันตกที่นับถือพุทธศาสนาแบบวัชรยานก็ยังหาโอกาสมาจาริกแสวงบุญที่นี่ การเดินทางไปวัดตักซัง ควรใช้วิธีเดินเท้าขึ้นไป เพราะในการจาริกแสวงบุญนั้นควรพึ่งน้ำพักน้ำแรงของตน แม้จะลำบากเหนื่อยยากเพียงใดก็ตาม จะว่าไปแล้วจุดมุ่งหมายประการแรกของการจาริกแสวงบุญก็เพื่อสร้างความเพียร และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความยากลำบาก มิใช่เพื่อทรมานตน แต่เพื่อเป็นแบบฝึกหัดในการยกจิตให้อยู่เหนือความลำบากทางกาย บรรยากาศรอบเส้นทางก็ยังเงียบสงบร่มรื่นและคงสภาพป่าไว้ได้ บางช่วงมีน้ำตกน้อยและลำธารไหลผ่าน หมุนกงล้อมนตร์ให้ส่งเสียงดังเป็นระยะ ๆ บรรยากาศอย่างนี้เหมาะกับการเดินเจริญสติไปด้วย คือรับรู้ทุกย่างก้าว ขณะเดียวกันก็เปิดใจรับรู้ทุกสิ่งที่มากระทบ แต่ก็ไม่วอกแวกหรือคิดฟุ้งปรุงแต่ง เดินช้า ๆ ไม่ต้องรีบ และไม่ต้องสนใจจุดหมายปลายทาง ใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับแต่ละก้าวเท่านั้นก็พอ ยิ่งเดิน ทางยิ่งชัน ก็ยิ่งต้องเดินอย่างมีสติ ไม่เช่นนั้นจะเหนื่อยเร็ว เพราะเผด้วยอยากให้ถึงจุดหมายไว ๆ ในการจาริกแสวงบุญบนเขาสูง ยิ่งเดินก็ยิ่งห่างไกลจากความสบาย เพราะนอกจากการขนส่งสิ่งอำนวยความสะดวกจะทำได้ยากแล้ว แต่ละคนยังขนเสบียงกรังได้ไม่มาก จะเดินให้ถึงจุดหมาย จำต้องพกพาข้าวของให้น้อยที่สุด เส้นทางยิ่งสูงชัน ความสุขทางกายก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่หากเดินเป็น สิ่งที่จะได้เพิ่มขึ้นมาก็คือ ความสุขทางใจและความสุขจากธรรมชาติ เพราะได้สัมผัสกับความสงบ ทั้งความสงบทางใจและความสงบจากธรรมชาติ การจาริกแสวงบุญกับการปีนเขานั้นมักจะแยกจากกันไม่ออก เป็นเพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมักอยู่บนยอดเขาหรือชะง่อนผา สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นของสูง จึงต้องประดิษฐานบนที่สูง แต่มองอีกแง่หนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บนที่สูงก็เพราะเป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติสูงสุดของมนุษย์ สำหรับชาวพุทธ อุดมคติสูงสุดก็คือพระนิพพาน อันได้แก่สภาวะที่อยู่เหนือโลก เป็นอิสระจากโลกธรรมทั้งหลายซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวนแปรปรวน ไม่น่ายึดถือและยึดถือไม่ได้ การจาริกแสวงบุญจึงเป็นเสมือนภาพจำลองของการดำเนินชีวิตเพื่อบรรลุถึงอุดมคติสูงสุดของชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกตนเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการก้าวไปให้ถึงจุดหมายสูงสุดดังกล่าว การจาริกแสวงบุญสู่เขาสูงจึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรบำเพ็ญสักครั้งหนึ่งในชีวิต ชาวภูฐานบางคนไม่ได้แสวงบุญด้วยการเดินอย่างธรรมดา แต่จาริกด้วยการกราบอัษฏางคประดิษฐ์ตามแบบวัชรยาน คือเดินสามก้าวแล้วก้มลงกราบโดยนอนราบกับพื้น นอกจากใช้เวลานานแล้วยังต้องใช้ความเพียรมากด้วย นักบวชภูฐานผู้หนึ่งกล่าวว่า ทุกคนที่จาริกแสวงบุญมาถึงตักซัง จะกลับไปเป็นคนละคนทีเดียว ใครที่ไปถึงตักซัง มิใช่แต่กายเท่านั้น หากใจก็ถึงด้วย ย่อมเห็นด้วยกับคำพูดนี้อย่างแน่นอน
Hotline 0-936468915, 0-823656241 ใบอนุญาตเลขที่ 11/05028